ผศ.ดร.กานดา ชัยภิญโญ อุปนายก สภากายภาพบำบัด
พันตรีประพล อยู่ปาน ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย สภากายภาพบำบัด
ปัจจุบัน ประชาชนชาวไทยเมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางการแพทย์หรือการเบิกค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายต่างๆ กำหนดไว้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง ได้แก่ ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินสามารถใช้สิทธิสวัสดิการเกี่ยวกับการได้รับบริการทางการแพทย์หรือการเบิกค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 กลุ่มที่สอง ได้แก่ ผู้ประกันตนซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และกลุ่มที่สาม ได้แก่ ผู้ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยสิทธิประโยชน์ของบุคคลในแต่ละกลุ่มดังกล่าวจะมีหลักเกณฑ์และข้อจำกัดในการได้รับบริการทางการแพทย์หรือการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกที่จะทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมกับบริษัทประกันภัยของเอกชน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางการแพทย์หรือการเบิกค่ารักษาพยาบาลซึ่งนอกเหนือจากสิทธิตามที่กฎหมายทั้งสามฉบับข้างต้นกำหนดไว้ และเมื่อผู้ทำประกันสุขภาพมีความจำเป็นจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยหรือภาวะของโรคด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดซึ่งกระทำโดยนักกายภาพบำบัด อันเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ มักมีข้อสงสัยหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางกายภาพบำบัดหรือการเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดของบุคคลในแต่ละกลุ่มอยู่เสมอ ๆ รวมถึงในส่วนของสัญญาประกันสุขภาพระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ทำประกันสุขภาพด้วย
เกี่ยวกับประเด็นข้อสงสัยหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวข้างต้นนั้น สภากายภาพบำบัดได้เคยมีหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงให้ทราบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางกายภาพบำบัดหรือการเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ "สำหรับหลักเกณฑ์การปฏิบัติของสถานพยาบาลของทางราชการหรือเอกชน กรณีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัดนั้นแบ่งออกได้เป็นสองกรณีคือ กรณีที่หนึ่ง ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการหรือการรักษาทางกายภาพบำบัดจากนักกายภาพบำบัด ณ สถานพยาบาลของทางราชการหรือเอกชนนั้นได้โดยตรง และกรณีที่สอง ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการหรือการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยมีแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาของสถานพยาบาลเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรค จากนั้นแพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยพร้อมผลตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อปรึกษานักกายภาพบำบัดดำเนินการรักษาทางกายภาพบำบัดต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดของนักกายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และข้อบังคับสภากายภาพบำบัดว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ.2549 จะเห็นได้ว่า กฎหมายทั้งสามฉบับข้างต้นไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดว่าการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อผู้ป่วยของนักกายภาพบำบัดจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาเสียก่อนหรือการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดจะต้องมีแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ควบคุมอยู่ด้วย หรือบัญญัติห้ามมิให้นักกายภาพบำบัดออกหนังสือรับรองการรักษาทางกายภาพบำบัด ดังนั้น การประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อผู้ป่วยของนักกายภาพบำบัดจะกระทำได้เพียงใดนั้น คงมีกำหนดไว้แต่ในข้อบังคับสภากายภาพบำบัดว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ.2549 เท่านั้น ซึ่งจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบันสถานพยาบาลของทางราชการหรือเอกชนมากมายหลายแห่งที่มีนักกายภาพบำบัดเป็นผู้ให้บริการสามารถทำการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อผู้ป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ตรวจประเมินหรือควบคุมอยู่ด้วยทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น คลินิกกายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลินิกกายภาพบำบัด ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คลินิกกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคลินิกกายภาพบำบัดของเอกชนโดยทั่วไปจำนวนกว่า 150 แห่ง เป็นต้น
เหตุที่กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด มิได้บัญญัติให้การประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อผู้ป่วยของนักกายภาพบำบัด จำเป็นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาเสียก่อน หรือจะต้องมีแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ควบคุมอยู่ด้วยนั้น เนื่องจาก พระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 มาตรา 3 ได้บัญญัติบทนิยามไว้ว่า "วิชาชีพกายภาพบำบัด หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน วินิจฉัย บำบัด ความบกพร่องของร่างกายซึ่งเกิดเนื่องภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ........ " จากบทนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นักกายภาพบำบัดสามารถตรวจประเมิน วินิจฉัย บำบัด ความบกพร่องของร่างกายซึ่งเกิดเนื่องภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือกายภาพบำบัดได้อยู่แล้ว ประกอบกับสภากายภาพบำบัดได้กำหนดแนวทางปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลางของนักกายภาพบำบัดในการให้บริการทางกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนกำหนดมาตรการในการคุ้มครองดูแลประชาชนซึ่งเป็นผู้รับบริการด้านกายภาพบำบัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการรับบริการทางกายภาพบำบัด โดยออกประกาศสภากายภาพบำบัด เรื่อง มาตรฐานบริการกายภาพบำบัด พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติให้นักกายภาพบำบัด จะต้องทำการตรวจประเมินและวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยทุกราย เพื่อระบุปัญหาและความต้องการ รวมทั้งให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับผลการตรวจประเมินและการให้บริการแก่ผู้รับบริการหรือครอบครัว วางแผนการดูแล และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสอดคล้องกับปัญหาหรือความต้องการด้านสุขภาพร่วมกันกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ ดูแลรักษา ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสมรรถภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ของหน่วยงานโดยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ตลอดจนมีการวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ดังนั้นนักกายภาพบำบัดจะต้องตรวจประเมินผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษา ทบทวนการวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดและวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ตลอดจนตัดสินใจหยุดการรักษา หรือส่งตัวผู้ป่วยไปยังแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทาง เพื่อปรึกษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่ไม่เหมาะสมในการรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือมีสภาวะที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยบริการทางการแพทย์ ด้านอื่นๆ นอกจากนี้ สภากายภาพบำบัดยังได้ดำเนินการแต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพทำหน้าที่กำกับดูแล ตลอดจนถึงการตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำแก่สถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพกายภาพบำบัดและประกาศสภากายภาพบำบัดดังกล่าวโดยเคร่งครัดแล้ว สำหรับกรณีการออกใบรับรองการรักษาของนักกายภาพบำบัดก็เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดแล้ว ไม่ปรากฎว่า มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามหรือจำกัดสิทธินักกายภาพบำบัดมิให้ออกใบรับรองการรักษาทางกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ป่วย ประกอบกับปัจจุบันมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่งซึ่งรับประกันภัยด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย ยินยอมให้ผู้ประกันตนเกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วยสามารถนำหนังสือรับรองการรักษาทางกายภาพบำบัดที่ออกโดยนักกายภาพบำบัดใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้
อนึ่ง ผลดีของการที่กรมบัญชีกลางยินยอมให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่นักกายภาพบำบัดเป็นผู้ทำการตรวจประเมิน วินิจฉัย และบำบัดรักษาทางกายภาพบำบัดโดยตรงต่อผู้ป่วย (direct access หรือ self-referral system) ได้แก่ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสิทธิบริการด้านสาธารณสุข และมีช่องทางเลือกใช้บริการทางกายภาพบำบัดได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการได้รับบริการทางกายภาพบำบัดที่เหมาะสมถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากภาวะของโรค หรือความบกพร่องของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ไม่เจ็บป่วยเรื้อรังและสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจ่ายเงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ผู้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนลดขั้นตอนการปฏิบัติและภาระงานของสถานพยาบาลของทางราชการตลอดจนบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอีกด้วย " จะเห็นได้ว่า หนังสือสภากายภาพบำบัดดังกล่าวสามารถนำมาใช้อธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางกายภาพบำบัดหรือการเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดได้อย่างชัดเจน ตลอดจนข้อสงสัยในส่วนของสัญญาประกันสุขภาพด้วย
ซึ่งในการทำสัญญาประกันสุขภาพนั้น ผู้ทำประกันสุขภาพควรจะต้องตรวจสอบสัญญาประกันสุขภาพโดยละเอียดรอบคอบเสียก่อนที่จะลงนามในสัญญาดังกล่าว และควรคำนึงว่าสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางการแพทย์หรือการเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันสุขภาพนั้น ได้กำหนดครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางด้านกายภาพบำบัดหรือการเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดด้วย หรือไม่ ซึ่งผู้ทำประกันสุขภาพสามารถพิจารณาได้จากเอกสารแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ที่แนบท้ายสัญญาประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับจากการทำสัญญาประกันสุขภาพ เช่น ค่าห้อง ค่าแพทย์ ฯลฯ สัญญาประกันสุขภาพโดยส่วนใหญ่จะระบุให้ค่ารักษาทางกายภาพบำบัดอยู่ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ( เช่น ค่ายา และเวชภัณฑ์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา การให้โลหิต และพลาสม่า กายภาพบำบัด ค่ารถพยาบาล ฯลฯ) และควรตรวจสอบถึงเงื่อนไขต่าง ๆ อันเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาของบริษัทประกันภัยทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ทำประกันสุขภาพเอง ดังนั้น สิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางด้านกายภาพบำบัดหรือการเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดตามสัญญาประกันสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเป็นสำคัญว่าจะตกลงกันอย่างไร มิได้ขึ้นอยู่กับการที่จะต้องมีแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้วินิจฉัยหรือสั่งการรักษาทางกายภาพบำบัดแต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันบริษัทประกันภัยของเอกชนหลายแห่งที่รับประกันภัยเกี่ยวกับสุขภาพยินยอมให้ผู้ที่ทำสัญญาประกันสุขภาพไว้กับบริษัทฯ สามารถนำหนังสือรับรองการรักษาทางกายภาพบำบัดซึ่งออกโดยนักกายภาพบำบัดที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปใช้เป็นหลักฐานแสดงประกอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (ค่ารักษาทางกายภาพบำบัด) ได้ และจะเห็นได้ว่า หากผู้ทำประกันสุขภาพมีความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางด้านกายภาพบำบัดหรือการเบิกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดตามสัญญาประกันสุขภาพแล้ว จะส่งผลดีต่อผู้ทำประกันสุขภาพทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการทางด้านกายภาพบำบัดได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนช่วยให้ผู้ทำประกันสุขภาพซึ่งเป็นผู้ป่วยหายจากภาวะของโรคหรือความบกพร่องของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังและสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว อีกทั้งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการได้รับบริการทางการแพทย์ลงได้ ในทางกลับกันยังช่วยให้บริษัทประกันภัยประหยัดงบประมาณในการจ่ายเงินอุดหนุนค่ารักษาทางกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ทำประกันสุขภาพได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน