ประวัติภาควิชากายภาพบำบัด

สาขาวิชา: ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ก่อตั้งภาควิชา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปฐมรัตน์ ศักดิ์ศรี

ภาควิชากายภาพบำบัด ได้เริ่มต้นการดำเนินงานในลักษณะเป็นสาขากายภาพบำบัด ในปี พ.ศ. 2527 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ หัวหน้าภาควิชากิจกรรมบำบัด เป็นผู้เสนอขอจัดตั้งสาขาวิชากายภาพบำบัดขึ้นในคณะเทคนิคการแพทย์ และมีการตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรกายภาพบำบัด ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทอดชัย ชีวเกตุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมรัตน์ ศักดิ์ศรี อาจารย์อรพรรณ วิญญูวรรธน์ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกคณะฯ ซึ่งเป็นอาจารย์และนักกายภาพบำบัดจากส่วนกลางและภูมิภาคอีก 7 ท่าน ร่วมกันจัดทำหลักสูตรกายภาพบำบัด โดยหลักสูตรฯ ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) และต่อมาได้มีการดำเนินการเสนอขอจัดตั้งเป็นภาควิชากายภาพบำบัด โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมรัตน์ ศักดิ์ศรี เป็นหัวหน้าโครงการและมีคณาจารย์ในโครงการช่วงแรก 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์วิยะดา ศักดิ์ศรี อาจารย์จรรยา สงเคราะห์ และอาจารย์ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์ ร่วมดำเนินงาน และได้รับอนุมัติให้เป็นภาควิชากายภาพบำบัด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2532 ภาควิชากายภาพบำบัด มช. จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจาก โรงเรียนกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันคือคณะกายภาพบำบัด) และภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาควิชาฯ ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาตร์บัณฑิตสาขากายภาพบำบัด ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจัดตั้งภาควิชาฯ ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นจาก 10 คน เป็น 70 คน ปี พ.ศ. 2534 - 2544 ภาควิชาฯ เปิดสอนประกาศนียบัตรพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูร่วมกับภาควิชากิจกรรมบำบัดและกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2545 - 2552 เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขากายภาพบำบัดคลินิก และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ภาควิชาฯ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย (ปรับเป็นหลักสูตรนานาชาติ ปี พ.ศ. 2565) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขากายภาพบำบัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน เปิดสอนหลักสูตรดุษฏีบัณฑิตวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาควิชาฯ เห็นความสำคัญและดำเนินการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์และการเรียนการสอนของนักศึกษา โดย ในปี พ.ศ.2529-2530 ภาควิชาฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ Miss Susan Eitel จากหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ.2533-2534 Miss IIIse Burdoff จากหน่วยงานอาสาสมัครอังกฤษ มาช่วยในการเรียนการสอน และปี พ.ศ.2534-2538 ภาควิชาฯ ได้ดำเนินจัดทำโครงการขอความช่วยเหลือและได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลียให้อาจารย์ของภาควิชาฯ ไปศึกษา อบรม และดูงานจำนวน 9 ทุน (ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 1 ทุน ปริญญาโท จำนวน 2 ทุน ระดับประกาศนียบัตร จำนวน 5 ทุน และดูงานระยะสั้น จำนวน 1 ทุน) ซึ่งทุนสนับสนุนดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ในด้านการเรียนการสอน การวิจัย และงานบริการวิชาการ ทำให้สามารถผลิตบัณฑิตกายภาพบำบัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีความโดดเด่นและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และต่อมาคณาจารย์ของภาควิชาฯ ยังได้รับทุนสนับสนุนเพื่อศึกษาต่อมหาวิทยาลัยภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ ทุนก.พ. ทุนสหเวชศาสตร์ ทุนพัฒนาคณาจารย์ของทบวงมหาวิทยาลัย ทุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุนรัฐบาลออสเตรเลีย ทุนศึกษาดูงานต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลียและประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงทุนสนับสนุนการเข้าร่วมประชุมอบรมต่าง ๆ ทำให้อาจารย์ของภาควิชาฯ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการสอนและการวิจัยเป็นอย่างดี

การบริหารจัดการองค์กรภายในภาควิชาฯ ดำเนินการบริหารโดย หัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าแขนงวิชา 5 แขนงวิชา ได้แก่ กายภาพบำบัดทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัดทางระบบประสาท กายภาพบำบัดระบบหัวใจและหลอดเลือด กายภาพบำบัดในเด็ก และกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ และมีนักกายภาพบำบัดประจำภาควิชาฯ

ภาควิชาฯ มีปณิธานมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะเทคนิคการแพทย์ โดยการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพ และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก เป็นศูนย์กลางทางวิชาการ และงานวิจัยตามแนวมาตรฐานวิชาชีพและความเป็นสากล เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและชุมชน


Print   Email