ผศ.ปฐมรัตน์ ศักดิ์ศรี
ผู้ก่อตั้งภาควิชา
ภาควิชากายภาพบำบัด มีจุดเริ่มต้นเป็นสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2527 สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจัดเป็นสาขาวิชาลำดับที่ 4 ของคณะฯ ซึ่งมีสาขาวิชาที่เปิดดำเนินการอยู่ก่อนแล้วคือ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชารังสีเทคนิค และสาขาวิชากิจกรรมบำบัด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังจัดเป็นสถาบันการศึกษากายภาพบำบัดที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจาก โรงเรียนกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันคือคณะกายภาพบำบัด) และภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาควิชากายภาพบำบัดในคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการช่วงเริ่มต้นในลักษณะเป็นสาขาวิชากายภาพบำบัดซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) โดยมี รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ หัวหน้าภาควิชากิจกรรมบำบัดในขณะนั้นเป็นผู้เสนอขอจัดตั้งสาขาวิชากายภาพบำบัดขึ้นในคณะเทคนิคการแพทย์ และมีการตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรกายภาพบำบัด ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทอดชัย ชีวเกตุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมรัตน์ ศักดิ์ศรี อาจารย์อรพรรณ วิญญูวรรธน์ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกคณะฯ ซึ่งเป็นอาจารย์และนักกายภาพบำบัดจากส่วนกลางและภูมิภาคอีก 7 ท่าน มาร่วมกันจัดทำหลักสูตรกายภาพบำบัด ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 พร้อมกับรับนักศึกษากายภาพบำบัดรุ่นแรกเข้าศึกษาจำนวน 10 คน ซึ่งต่อมาได้ขยายจำนวนรับเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 60 คน
การบริหารจัดการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ได้ดำเนินงานในลักษณะเป็นโครงการจัดตั้งภาควิชากายภาพบำบัด โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมรัตน์ ศักดิ์ศรี เป็นหัวหน้าโครงการและมีคณาจารย์ในโครงการช่วงแรก 3 ท่าน (อาจารย์วิยะดา ศักดิ์ศรี,อาจารย์จรรยา สงเคราะห์ และอาจารย์ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์) ร่วมดำเนินงาน พร้อมกับดำเนินการเสนอขอจัดตั้งเป็นภาควิชากายภาพบำบัดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) โดยได้รับอนุมันติให้เป็นภาควิชากายภาพบำบัดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2532 โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคาร 7 ชั้นของคณะเทคนิคการแพทย์ โดยแบ่งเป็น ภาควิชากายภาพบำบัดครึ่งหนึ่ง และเป็นห้องสมุดคณะฯ อีกครึ่งหนึ่ง สำหรับห้องฝึกปฏิบัติการกายภาพบำบัดและคลินิกกายภาพบำบัดซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษากายภาพบำบัดนั้น ตั้งอยู่ ณ อาคารสีฟ้าสองชั้น (ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคาร 12 ชั้น ในปัจจุบัน) โดยชั้นล่างเป็นห้องปฏิบัติการของสาขาวิชากิจกรรมบำบัดครึ่งหนึ่ง เป็นคลินิกกายภาพบำบัดครึ่งหนึ่ง ส่วนชั้นบนเป็นห้องฝึกปฏิบัติการกายภาพบำบัด รวม 2 ห้อง และมีอาคารธาราบำบัดที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนและการรักษาผู้ป่วยในการออกกำลังกายในน้ำ มีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูร่วมกับภาควิชากิจกรรมบำบัดและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรีในระหว่างปี พ.ศ. 2534-2544 เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขากายภาพบำบัดคลินิกในระหว่างปี พ.ศ. 2545-2552 เปิดหลักสูตรปริญญาโทวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน และหลักสูตรดุษฏีบัณฑิตวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548- ปัจจุบัน
ภาควิชากายภาพบำบัดได้ดำเนินการขอผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยในการสอนโดยในปี พ.ศ.2529-2530 ได้ Miss Susan Eitel จากหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกามาช่วยสอน และในปี พ.ศ.2533-2534 ได้ Miss IIIse Burdoff จากหน่วยงานอาสาสมัครอังกฤษมาช่วยสอน ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเป็นอย่างมาก
ด้านการพัฒนาบุคลากรนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2538 ภาควิชาได้ดำเนินจัดทำโครงการขอความช่วยเหลือเพื่อให้คณาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลียให้ไปศึกษา อบรม และดูงานจำนวน 9 ทุน (ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 1 ทุน ปริญญาโท จำนวน 2 ทุน, ศึกษาระดับประกาศนียบัตร จำนวน 5 ทุน และดูงานระยะสั้น จำนวน 1ทุน) และต่อมาในภายหลังคณาจารย์ได้รับทุนต่างๆ เพิ่มเติม คือ ทุน ก.พ. จำนวน 2 ทุน, ทุน สหเวชศาสตร์ จำนวน 13 ทุน, โครงการผลิตพัฒนาคณาจารย์ของทบวงจำนวน 7 ทุน, ทุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 2 ทุน และทุนรัฐบาลออสเตรเลียเพิ่มอีก 2 ทุน ทุนดูงานประเทศออสเตรเลีย จำนวน 3 ทุน ดูงานประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1 ทุน รวมทั้งมีการส่งเสริมให้เข้าร่วมประชุมอบรมต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้คณาจารย์มีความรู้ ความสามารถในการสอนได้เป็นอย่างดี
การบริหารจัดการองค์กรภายในภาควิชานั้น ได้มีการบริหารงานโดยหัวหน้าภาควิชา, รองหัวหน้าภาควิชา, หัวหน้าแขนงวิชา 5 แขนงวิชาและคณะกรรมการด้านอื่นๆ เช่น คณะกรรมการบริหารหลักสูตร,คณะกรรมการประเมินการปฏิบัติงานของข้าราชการและลูกจ้างประจำ, คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา, คณะกรรมการวิชาการ, คณะกรรมการบริการวิชาการ, กิจกรรมนักศึกษา เป็นต้น
การจัดการการศึกษาของภาควิชานั้น จากอดีตที่รับเฉพาะระดับปริญญาตรีจำนวน 10 คน กลายเป็น 60 คน และรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรในปี พ.ศ.2544 และคาดว่าจะเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทในปี พ.ศ.2547 นี้
ทางด้านการวิจัย ภาควิชามีแผนเปิดศูนย์วิจัยศึกษาความปลอดภัยและสภาพการประกอบอาชีพ ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปวดหลัง และศูนย์วิจัยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
ทางด้านการบริการวิชาการ ภาควิชากายภาพบำบัดมีความคล่องตัวในการจัดประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ของนักกายภาพบำบัดในประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดมา นอกจากนี้ทางภาควิชาฯ ยังได้ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของงานบริการกายภาพบำบัดไปสู่ชุมชน เปิดให้บริการทางธาราบำบัดและงานบริการสุขภาพอื่นๆ แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ บริการนวดเพื่อสุขภาพ บริการห้องบริหารกาย รวมทั้งยังมีแผนการเผยแพร่ความรู้ทางสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้รับข้อมูลความรู้ทางกายภาพบำบัดอย่างเสมอภาค ในอนาคตภาควิชาฯมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือในด้านการบริการทางกายภาพบำบัด และบริการวิชาการด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแกบุคลากรทั้งทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปทั้งภายในและต่างประเทศ และคาดว่าอาจจะมีการปรับหลักสูตรให้มีความเป็นนานาชาติเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพด้านกายภาพบำบัดให้กว้างขวางมากขึ้นต่อไป