กายภาพบำบัดกับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือที่เรียกว่า ซีโอพีดี (COPD) ย่อมาจาก Chronic obstructive pulmonary disease เป็นกลุ่มอาการของโรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมโป่งพอง ส่วนใหญ่สาเหตุของโรคนี้มักมาจากการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีอาการไอ ประกอบกับมีเสมหะ และมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบากร่วมด้วย โดยเฉพาะในขณะทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น การเดินขึ้นบันได ทำงานบ้าน และอื่นๆ เมื่ออาการของโรครุนแรงขึ้น ผู้ป่วยมักไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นและสุดท้ายอาจส่งผลต่อการทำงาน การเข้าสังคมของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้า และก่อให้เกิดความพิการทางด้านจิตใจตามไปด้วย


เนื่องจากเนื้อเยื่อของปอดได้มีการถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเป็นการทำงานร่วมกันของบุคคลากรทางการแพทย์หลาย ๆ สาขา เพื่อมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรคและการใช้ยา ตลอดจนการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย การฝึกกล้ามเนื้อหายใจ การให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและการดูแลทางด้านจิตใจ


เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการเหนื่อยหอบในขณะทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ผู้ป่วยจึงมักหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือการทำกิจวัตรประจำวันที่ต้องออกแรงมาก ๆ จึงก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายเนื่องมาจากการไม่ได้ใช้งาน เพิ่มเติมไปจากการเสื่อมเนื่องมาจากสภาวะโรค ซึ่งอาจสังเกตได้จากความทนทานในขณะทำงาน หรือขณะทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ลดลง เหนื่อยล้าง่าย เกิดภาวะของกล้ามเนื้อตึงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่าง ๆ ผิดปกติ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งอาจสังเกตได้จากขนาดของกล้ามเนื้อที่เล็กลงหรือนิ่มเหลว

งานกายภาพบำบัดมีบทบาทที่สำคัญต่อผู้ป่วยในกลุ่มนี้ กายภาพบำบัดสามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายในส่วนที่เกิดจากความเสื่อมอันเนื่องมาจากการไม่ได้ใช้งาน โดยจะเน้นถึงการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานในการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้นานขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพประกอบด้วยการฝึกรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเดิน ในช่วงแรกของการฝึก ควรทำบ่อย ๆ โดยในแต่ละครั้งควรใช้เวลาน้อย ๆ ก่อน เช่น ประมาณ 3-5 นาทีต่อครั้ง ระดับความหนักเบาในการออกกำลังกายจะมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละบุคคล การออกกำลังกายที่ดีนั้นไม่ควรทำแบบหักโหม ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสปรับตัว ถ้าในขณะออกกำลังกายท่านมีอาการหอบเหนื่อยจนไม่สามารถพูดได้ แสดงว่าการออกกำลังกายนั้นหนักเกินไป นอกจากนั้นการออกกำลังกายที่ดีควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกาย และผ่อนคลายหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง


การยืดกล้ามเนื้อ

การยืดกล้ามเนื้อเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ทั้งนี้การยืดกล้ามเนื้อจะทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย โดยทั่วไปมักพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการตึงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เช่น บริเวณคอ ไหล่ หลัง ขา ทำให้ช่วงการเคลื่อนไหวลดลง และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในขณะมีการเคลื่อนไหว การยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้องควรยืดจนรู้สึกตึงและค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ขณะทำไม่ควรกลั้นหายใจและทำช้า ๆ

การฝึกการหายใจ

การฝึกการหายใจให้มีประสิทธิภาพ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอาการเหนื่อยหอบในขณะทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งจะส่งเสริมให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เมื่อท่านมีอาการเหนื่อยหอบ อันดับแรกไม่ควรตื่นตระหนก ควรพยายามควบคุมการหายใจ เข้า- ออกให้เป็นจังหวะช้า ๆ การหายใจเข้าออกรุนแรงหรือไม่สามารถควบคุมให้อัตราการหายใจเป็นปกติได้ เนื่องจากภาวะตกใจอาจมีผลการถ่ายเทอากาศเข้า–ออกจากปอดไม่มีประสิทธิภาพ

กล่าวโดยสรุป กายภาพบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะเน้นถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายเป็นสำคัญ ผลของการฟื้นฟูจะช่วยให้ผู้ป่วยลดการพึ่งพาผู้อื่น และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าต่อครอบครัว
และส่วนรวม หรือสังคมที่พวกเขาอยู่ด้วยอันจะส่งผลให้มีสุขภาพทางจิตดีขึ้น

​จากคู่มือการดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพประจำปี เอกสารเผยแพรความรู้สำหรับประชาชน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2549)