B1

กายภาพบำบัดกับพัฒนาการการเคลื่อนไหวในเด็กเล็ก

โดย รองศาสตราจารย์กรกฎ เห็นแสงวิไล

​เด็กทารกหากได้รับการดูแล กระตุ้นพัฒนาการอย่างครบถ้วนเหมาะสมตามวัยแล้ว แม้เด็กอาจมีพยาธิสภาพ หรือเสี่ยงต่อการล่าช้าในด้านพัฒนาการ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาให้ไม่รุนแรง และเด็กบางรายผ่านการฝึกฝน พบว่าสมองสามารถเรียนรู้ปรับตัว ทำให้พัฒนาการใกล้เคียงเด็กปกติได้


ประสบการณ์ที่ได้ให้บริการกายภาพบำบัดในเด็กเล็กมาหลายปี ได้รับผู้ป่วยเด็กทารกจากหอผู้ป่วยทารกภาวะวิกฤต (NICU) และคลินิกเด็กเล็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อพัฒนาการล่าช้า (High risk) ได้รับปรึกษาตั้งแต่เด็กทารกอายุประมาณอายุ 1 - 3 เดือนขึ้นไป บางรายมีผลการตรวจจากแพทย์แสดงพยาธิสภาพที่รุนแรงในสมองเด็ก และคำอธิบายให้พ่อแม่เตรียมใจ รับทราบถึงข้อจำกัดที่เด็กจะยากลำบากในการมีชีวิต ในทางกายภาพบำบัดเราพบว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ให้ความร่วมมือ เอาใจใส่กระตุ้นพัฒาการอย่างต่อเนื่องตามที่ได้แนะนำ เด็กทุกคนมีพัฒนาการการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น  


 สาเหตุประการหนึ่งเนื่องจากสมองเด็กทารกยังเจริญไม่เต็มที่ และจะเติบโตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงอายุ 2 ขวบ หลังจากนั้นสมองและระบบประสาทส่วนกลางจะเจริญต่อไปจนเต็มที่ใกล้เคียงสมองผู้ใหญ่เมื่อเด็กอายุประมาณ 5 - 7 ปี ดังนั้นหากเด็กมีรอยโรคเกิดขึ้นในสมอง แต่ได้กระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวตามวัยอย่างถูกต้อง คอยสอนให้เด็กยับยั้งไม่ให้เกิดการใช้แบบแผนของพยาธิสภาพ เช่น การอ่อนปวกเปียก การเกร็ง การกระตุก การเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมได้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงในทางที่ใกล้เคียงกับแบบแผนปกติสามารถเกิดขึ้นได้ จำเป็นที่ผู้ดูแลควรต้องมีความเข้าใจ สังเกตลักษณะที่ไม่ควรให้เด็กอยู่ในท่าทางที่ผิดปกติ และจับต้องร่างกาย การอุ้ม การช่วยเหลือเด็กอย่างถูกต้อง ใช้การเล่น การกระตุ้น การเร่งเร้าที่เหมาะสมตามลำดับ ก็จะช่วยป้องกันปัญหาความรุนแรง การล่าช้า หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้


  การสังเกตพัฒนาการการเคลื่อนไหวที่สำคัญในเด็กเล็ก ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลควรเห็นได้ชัดเจน สามารถฝึกฝนให้เด็กทำได้ ดังเช่น


ภาพ 1 นอนหงาย เตะขาลอย
  • อายุ 1 เดือนแรก เด็กนอนหงายหันศรีษะได้ทั้งสองข้าง
  • อายุ 2 เดือน นอนหงายชูมือไปข้างหน้าทั้งสองข้าง จับนอนคว่ำยันแขนท่อนล่างยกศรีษะคางพ้นพื้น หันหน้าไปทั้งซ้าย-ขวา
  • อายุ 3 เดือน นอนหงายชูมือไปข้างหน้าทั้งสองข้าง ขาเตะสลับทั้งสองข้าง จับนอนคว่ำยันแขนท่อนล่าง ยกศรีษะตรงพ้นพื้น
  • อายุ 4 เดือน นอนหงายชูมือมาจับกันตรงกลาง จับขวดนม เตะขาสองข้างเท้าลอยพ้นพื้น (ภาพ 1) มือแตะเข่า จับเท้า ช่วยให้นอนคว่ำ ยันแขนท่อนล่าง เอื้อมมือไปแตะของเล่น เริ่มใช้มือยัน มีการเอี้ยวลำตัวส่วนบน
  • อายุ 5 เดือน นอนหงายยกศรีษะพ้นพื้น จับนอนคว่ำยันมือ เตะขา เอี้ยวตัวมานอนหงาย ชูมือซ้ายจับเท้าขวา มือขวาจับเท้าซ้าย
  • อายุ 6 เดือน นอนหงายตะแคงมาคว่ำ กลิ้ง จับนั่งกางขามือยันพื้น หลังโก่ง
  • อายุ 7 เดือน นั่งเล่น มือไม่ยันพื้น หลังตรง นอนคว่ำ ยันแขน ถีบเท้า คืบไปข้างหน้า
  • อายุ 8 เดือน คลานสลับ มือซ้าย เข่าขวา มือขวา เข่าซ้าย ยันมือมานั่ง และปรับท่าไปคลาน
  • อายุ 9 เดือน นั่ง เปลี่ยนท่าเป็นพับเพียบ เกาะ ชันเข่าลุกขึ้น เกาะยืน 
  • อายุ 10 เดือน นั่งเล่น หยิบของชิ้นเล็ก (ระวังเอาเข้าปาก จมูก) เกาะเดินไปด้านข้าง 
  • อายุ 11 – 12  เดือน ยืนได้เอง เริ่มเดินก้าวสั้นๆ  

 เด็กควรได้รับการกระตุ้นด้วยของเล่นอย่างเหมาะสมตามลำดับ ผู้ดูแลไม่ควรทำทุกอย่างให้เด็กทั้งหมด ทำให้เด็กขาดโอกาสฝึกฝน การรอคอย ช่วงเวลาที่เด็กกำลังเรียนรู้ การสอนให้เด็กใช้แบบแผนการเคลื่อนไหวถูกต้องเป็นสิ่งที่จำเป็น เซลล์สมองที่ดีก็จะเพิ่มความสามารถในการรับรู้ ควบคุมส่วนที่เป็นปัญหาได้มากขึ้น


ภาพ 2 นั่งคร่อมกางขา

 กรณีเด็กมีปัญหาบางประเภท ข้อควรสนใจกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวเบื้องต้น เช่น

1. ​เด็กค่อนข้างอ่อนปวกเปียก ควรกระตุ้นให้เคลื่อนไหวแขน ขา ลำตัว ทรงศรีษะตรงกลาง ลำตัวตรงต้านแรงดึงดูดของโลกได้เอง ยันมือ ยันเท้า
2. เด็กเกร็ง ควรยับยั้งการยึดติดบริเวณสบัก และสะโพก เร่งเร้าให้ยื่นแขนให้สุด คว่ำบนหมอนข้าง เอื้อมมือไปอีกด้าน เตะขาสลับ มือซ้ายจับเท้าขวา มือขวาจับเท้าซ้าย คลานสลับ จะช่วยเตรียมสู่แบบแผนการเดิน ควรหลีกเลี่ยงการเกร็ง เช่น การคืบเกร็งลากเท้า การกลิ้งตัวเป็นท่อน ไม่ควรปล่อยให้อยู่ท่าใดท่าหนึ่งนาน จะเพิ่มการยึดติด ควรให้เคลื่อนไหวหลากหลาย หมุนลำตัว นั่งคร่อมหมอนข้างกางขา (ภาพ 2) เท้าลอยพ้นพื้น เป็นต้น
3. เด็กกระตุก ปลายมือ ปลายเท้ามีการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ ควรต้องยับยั้งอาการเหล่านี้ โดยการนั่งยันมือ ยันเท้า ลงน้ำหนัก นั่งนิ่ง ช่วยจับยืน ยืนหลังพิงข้างฝาให้นานขึ้น บางรายศรีษะสั่นส่ายไปมา ควรจับศรีษะให้นิ่งก่อน จะมีผลให้มือและเท้าเคลื่อนไหวน้อยลงด้วย


การให้เวลาฝึกฝนเด็กตั้งแต่แรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในพัฒนาการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการทรงท่า การเคลื่อนไหว และปฏิกิริยาอัตโนมัติ ในแบบแผนที่ปกติ พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ในการตัดสินใจลงมือฝึกฝนร่วมกันเป็นทีมงาน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตามลำดับ ป้องกันปัญหาสุขภาพซ้ำซ้อน ทั้งเด็กและครอบครัวก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


เอกสารอ้างอิง

  1. Naletilic' M, Tomic' V, Sabic' M, Vlak T. Cerebral palsy: early diagnosis, intervention and risk factors. Coll Antropol 2009;33:59-65.
  2. Leversen KT, Sommerfelt K, Rønnestad A, Kaaresen PI, Farstad T, Skranes J, etal. Prediction of neurodevelopmental and sensory outcome at 5 years in Norwegian children born extremely preterm. Pediatrics 2011;127:630-8.
  3. Hielkema et al. LEARN 2 MOVE 0-2 years: effects of a new intervention program in infants at very high risk for cerebral palsy; a randomized controlled trial. BMC Pediatrics 2010, 10:76.
  4. Early-childhood-movement-development http://www.livestrong.com/article/84688-early-childhood-movement-development/ [cited 2/11/2012]